การเกษตรทางเลือกมีหลากหลายรูปแบบหนึ่งในนั้นคือเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศในทวีปยุโรปที่ประสบปัญหาจากการทำการเกษตรเคมีมาก่อน จึงก่อให้เกิดกระแสความสนใจในการเกษตรทางเลือกที่สามารถลดผลกระทบจากกระบวนการผลิตได้ สำหรับการเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันแต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรเนื่องจากเกิดปัญหาทั้งในด้านการผลิตและการส่งเสริมการตลาดสาเหตุที่ทำให้ตลาดเกษตรอินทรีย์ไม่ประสบความสำเร็จสามารถอธิบายได้ด้วยแนวคิด “ความล้มเหลวของตลาด” อันมีปัจจัยที่ทำให้เกิดความล้มเหลวของตลาด ดังนี้1. การมีอำนาจเหนือตลาด (market power) ของเกษตรกร เนื่องจากยังมีอุปทานหรือจำนวนเกษตรกรและพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไม่มาก2. ผลกระทบภายนอก (Externalities) การที่ระบบการผลิตแบบเกษตรเคมีมีผลกระทบภายนอก การผลิตด้วยเกษตรอินทรีย์ที่คำนึงถึงผลกระทบภายนอกโดยเอาต้นทุนทางสังคมมารวมเข้ากับต้นทุนการผลิต ทำให้ต้องมีการจ้างแรงงานมาดูแลมากขึ้นทดแทนกับการไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จึงทำให้ราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์สูงกว่าสินค้าอื่น ๆ มากถึง 30-60 % 3. ความไม่สมบูรณ์ของข้อมูล (Imperfect information) ผู้บริโภคมีข้อมูลเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์และผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์น้อยมาก จึงไม่ตระหนักถึงความสำคัญ และไม่นิยมบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์เท่าใดนักสำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาเพื่อการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์นั้น จำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชน (เกษตรกรและผู้บริโภค)เพื่อสร้างเสริมความรู้ ความเข้าใจในหลักการพื้นฐานของเกษตรอินทรีย์ และคุณประโยชน์ของการเกษตรอินทรีย์ในแง่ที่ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศอีกด้วย ที่มา: ศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดย ศริณ แซ่ลิ่ม (2550)
ปัญหาในการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย
ปัจจุบันการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งประเทศไทยเกษตรอินทรีย์เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลในการปรับทิศทางการผลิตในภาคการเกษตรให้สอดรับกับสถานการณ์โลก ซึ่งปัญหาในระยะที่ผ่านมาสำหรับการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย มีดังนี้คือ
1. ขาดการรับรองมาตรฐาน การที่ยังไม่มีหน่วยงานของราชการออกมาให้การรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ทำให้สินค้าเกษตรอินทรีย์ยังไม่เป็นที่เชื่อถือของผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง ผู้บริโภคไม่สามารถแยกได้อย่างชัดเจนระหว่างสินค้าเกษตรอินทรีย์และสินค้าเกษตรทั่วไป ดังนั้นการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ทำให้ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มมั่นใจในสินค้า และยอมที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์
2. การผลิตส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับสินค้าเกษตรอนามัยเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผัก มีเพียงข้าวสารบรรจุถุงเท่านั้นที่สามารถผลิตได้ในระดับสินค้าเกษตรอินทรีย์และส่วนใหญ่เน้นการส่งออกต่างประเทศมากกว่าการจำหน่ายในประเทศ ปัญหาบางส่วนเนื่องจากเกษตรกรยังไม่มีความรู้เพียงพอในการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ซึ่งทางกรมส่งเสริมการเกษตรเริ่มมีการส่งเจ้าหน้าที่ออกไปให้คำแนะนำและให้คำปรึกษากับเกษตรกร ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่น่าสนใจสำหรับเกษตรกรไทย คือ ข้าว ผัก ผลไม้เมืองร้อน เครื่องเทศ สมุนไพร ชา กาแฟ ผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ และผลิตภัณฑ์ประมง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง ซึ่งสินค้าเหล่านี้ไทยมีความได้เปรียบในการผลิต ดังนั้นการหันมาผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์โดยได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการจึงเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ
3. มีการผลิตเพียงไม่กี่ชนิด ไม่มีความหลากหลายให้ผู้บริโภคได้เลือกรับประทานมากนัก ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งให้การส่งเสริมและคำปรึกษาโดยเฉพาะในเรื่องตลาดรองรับสินค้า เพื่อให้เกษตรกรมีความมั่นใจทั้งในด้านการผลิตและการตลาด
4. ราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์อยู่ในเกณฑ์สูง เมื่อเปรียบเทียบแล้วราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์แพงกว่าสินค้าเกษตรทั่วไปเฉลี่ยประมาณร้อยละ 30 ทำให้ตลาดจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้สูง สาเหตุที่สินค้าเกษตรอินทรีย์มีราคาแพงคือการผลิตยังไม่มากและแหล่งผลิตอยู่กระจัดกระจาย สินค้าเกษตรอินทรีย์มีโอกาสถูกศัตรูพืชสร้างความเสียหายได้ง่ายและนำหนักของสินค้าเกษตรอินทรีย์จะเบากว่าสินค้าเกษตรทั่วไปทำให้เมื่อคำนวณต้นทุนการผลิตและการขนส่งแล้วจะสูงกว่าสินค้าเกษตรทั่วไป
ดังนั้นในการพัฒนาไปสู่การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ปลอดสารพิษนั้นยังต้องอาศัยเวลาและขั้นตอนการพัฒนาอีกระยะหนึ่ง รวมทั้งยังต้องมีการแก้ปัญหาและอุปสรรคในปัจจุบันให้หมดไปจึงจะทำให้ไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำในการผลิต และการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ของโลกได้
ที่มา: ศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (2551)