การเกษตรทางเลือกมีหลากหลายรูปแบบหนึ่งในนั้นคือเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศในทวีปยุโรปที่ประสบปัญหาจากการทำการเกษตรเคมีมาก่อน จึงก่อให้เกิดกระแสความสนใจในการเกษตรทางเลือกที่สามารถลดผลกระทบจากกระบวนการผลิตได้ สำหรับการเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันแต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรเนื่องจากเกิดปัญหาทั้งในด้านการผลิตและการส่งเสริมการตลาดสาเหตุที่ทำให้ตลาดเกษตรอินทรีย์ไม่ประสบความสำเร็จสามารถอธิบายได้ด้วยแนวคิด “ความล้มเหลวของตลาด” อันมีปัจจัยที่ทำให้เกิดความล้มเหลวของตลาด ดังนี้1. การมีอำนาจเหนือตลาด (market power) ของเกษตรกร เนื่องจากยังมีอุปทานหรือจำนวนเกษตรกรและพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไม่มาก2. ผลกระทบภายนอก (Externalities) การที่ระบบการผลิตแบบเกษตรเคมีมีผลกระทบภายนอก การผลิตด้วยเกษตรอินทรีย์ที่คำนึงถึงผลกระทบภายนอกโดยเอาต้นทุนทางสังคมมารวมเข้ากับต้นทุนการผลิต ทำให้ต้องมีการจ้างแรงงานมาดูแลมากขึ้นทดแทนกับการไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จึงทำให้ราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์สูงกว่าสินค้าอื่น ๆ มากถึง 30-60 % 3. ความไม่สมบูรณ์ของข้อมูล (Imperfect information) ผู้บริโภคมีข้อมูลเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์และผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์น้อยมาก จึงไม่ตระหนักถึงความสำคัญ และไม่นิยมบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์เท่าใดนักสำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาเพื่อการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์นั้น จำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชน (เกษตรกรและผู้บริโภค)เพื่อสร้างเสริมความรู้ ความเข้าใจในหลักการพื้นฐานของเกษตรอินทรีย์ และคุณประโยชน์ของการเกษตรอินทรีย์ในแง่ที่ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศอีกด้วย ที่มา: ศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดย ศริณ แซ่ลิ่ม (2550)