สาธารณรัฐอิตาลี เป็นประเทศที่มีการนำมาตรการทางภาษีอย่างจริงจังมาใช้ในการส่งเสริมการใช้งานพลาสติกชีวภาพ โดยเริ่มต้นด้วยการออกกฎหมายห้ามจำหน่ายและแจกถุงพลาสติกทุกประเภท ยกเว้นถุงพลาสติกที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกชีวภาพที่มีการรับรองว่าสามารถสลายตัวได้ (compostable plastics) ตามมาตรฐานของ EN 13432:2002 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ถูกนำเสนอโดยสมาชิกสภาราษฎรฝ่ายค้าน ด้วยการสนับสนุนจากภาคประชาชนและอุตสาหกรรม เพื่อมีจุดมุ่งหวังเดียวกันในเรื่องการจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
สิ่งสำคัญไม่ใช่เพียงแต่การออกกฎหมายเท่านั้น แต่ได้มีเป้าหมายนโยบายที่ชัดเจนว่าในปี พ.ศ. 2555 ขยะอินทรีย์จะถูก รวบรวมด้วยถุงสลายตัวได้ร้อยละ 65 และนำไปผลิตเป็นปุ๋ย รวมถึงการสร้างกำแพงในการลดการฝังกลบด้วยการเพิ่มค่าการกำจัดสำหรับการฝังกลบอีกร้อยละ 20 ยูโร นอกจากนี้ ยังได้มีการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานอย่างโรงผลิตปุ๋ยหมักจากขยะ (composting plant) ที่ขณะนี้มีอยู่ทั้งหมด 240 แห่งทั่วประเทศ มีขยะอินทรีย์เข้ามา 3.7 ล้านตันต่อปี และผลิตเป็นปุ๋ยได้ 1.34 ล้านตันต่อปี ซึ่งมีการบริหารงานโดยภาคเอกชนและสามารถดำเนินการจนมีกำไรจากค่ากำจัดและปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตได้
ปัจจัยความสำเร็จของการดำเนินนี้ คือ การได้รับความร่วมมือจากประชาชนที่มีการคัดแยกขยะต้นทางอย่างสมบรูณ์ โดยแต่ละบ้านจะใช้ถุงพลาสติกชีวภาพที่ได้จากห้างสรรพสินค้ามาใช้แยกขยะอินทรีย์ในครัวเรือน เช่น ถุงพลาสติกชีวภาพผสมแป้งของบริษัท Novamont ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตคอมพาวนด์พลาสติกชีวภาพที่ใช้แป้งเป็นสารตัวเติมหลัก โดยพัฒนาองค์ความรู้มาจากหน่วยงานวิจัยของอิตาลี และเป็นบริษัทชั้นนำด้านพลาสติกชีวภาพ และเป็นเจ้าของสิทธิบัตรมากกว่า 1,000 สิทธิบัตร จากนั้นจะมีบริษัทมาเก็บแยกเพื่อไปรวบรวม และนำขยะอินทรีย์ไปผลิตปุ๋ยหมัก โดยมีการปรับปรุงคุณภาพปุ๋ยให้มีคุณภาพสูงและควบคุมคุณภาพได้ในการผลิตระดับอุตสาหกรรม
Bioplastics@German
สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นอีกประเทศสำคัญที่มีการสนับสนุนการใช้พลาสติกชีวภาพโดยการออกกฎหมายควบคุมการใช้พลาสติก โดยมีการสนับสนุนการใช้พลาสติกชีวภาพที่มีวัตถุดิบใหม่ที่ปลูกทดแทนได้ (renewable resource) โดยมีตัวอย่างที่สำคัญ คือ เมือง Bad Durkheim ซึ่งได้ร่วมมือกับบริษัท BASF สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิด PBAT โดยได้ดำเนินการโครงการนำร่องการใช้ถุงขยะพลาสติกชีวภาพเพื่อคัดการขยะอินทรีย์ และนำมากำจัดในโรงผลิตปุ๋ยหมัก เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อให้ประชาชนทราบว่ามีการใช้ถุงพลาสติกชีวภาพจะมีคุณภาพดีกว่าการใช้ถุงกระดาษในการคัดแยกแบบในปัจจุบัน ทำให้ประชาชนยินดีที่จะจ่ายเงินซื้อถุงขยะพลาสติกชีวภาพจากเทศบาล และต่อมาได้มีการประกาศนโยบายที่มีความชัดเจน โดยกำหนดเป็นข้อกฎหมายของเมืองให้ใช้ถุงขยะพลาสติกชีวภาพในการคัดแยกขยะอินทรีย์
แนวทางของนโยบายการใช้พลาสติกชีวภาพเพื่อจัดการขยะอินทรีย์ในประเทศไทย
สำหรับในประเทศไทย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. ได้ริเริ่มและสนับสนุนการดำเนินโครงการนำร่องการเพื่อจัดการขยะอินทรีย์ ได้แก่ 1) เทศบาลตำบลกระดังงา อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ และชุมชนมีความตระหนักในการมีส่วนร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มแข็ง 2) อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้าหมู่เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวบนเกาะ มีพื้นที่จำกัดในการกำจัดขยะ อย่างไรก็ตามการดำเนินงานโครงการลักษณะนี้ เพื่อจะได้ข้อมูลพื้นฐานและแนวทางที่ชัดเจน สำหรับการสนับสนุนการสร้างนโยบายและมาตรการของภาครัฐที่ต้องมีการสนับสนุนอย่างจริงจัง เพื่อผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพอย่างครบวงจร และการส่งเสริมและการจัดการขยะอย่างคุ้มค่าต่อไป